การเคารพกฎเกณฑ์
การเคารพกฎเกณฑ์เป็นหลักการพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคมโดยปกติสุข ไม่ว่าจะเป็นสังคมใดหรือประเทศใด การอยู่ร่วมกันของผู้คนเป็นจำนวนมากในสังคมต้องอาศัยกฎระเบียบกติกาของสังคม ซึ่งคนในสังคมนั้นๆจำต้องเรียนรู้กฎกติกาของสังคม พร้อมทั้งต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมนั่นคือ ต้องยอมรับและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาทางสังคม การอบรมสมาชิกในสังคมให้เกิดการเรียนรู้กฎเกณฑ์และกติกาของสังคม คือ การถ่ายทอดวิถีชีวิตวัฒนธรรม และการทำให้สมาชิกในสังคมนั้นสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสมถูกต้อง ซึ่งในสังคมที่ได้มีการจัดระเบียบอย่างดีแล้วนั้น การอบรมให้เรียนรู้กฎเกณฑ์ของสังคมเป็นกระบวนการที่จะต้องกระทำ เริ่มตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ การเข้าไปมีส่วนร่วมในรูปของสังคมใหม่และสถาบันใหม่ สมาชิกในสังคมก็จะต้องเรียนรู้กฎเกณฑ์ใหม่และยอมรับค่านิยมใหม่ และในขณะ เดียวกันที่พ่อแม่ครอบครัวก็ต้องทำหน้าที่เป็นตัวหลักที่สำคัญในการเลี้ยงดูเด็ก เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในการเคารพกฎเกณฑ์ของสังคม เพื่อให้การดำรงชีวิตอยู่ของสมาชิกในสังคมได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
เด็กที่เคารพกฎเกณฑ์มีพฤติกรรมอย่างไร?
ลักษณะของเด็กที่รู้จักเคารพกฎเกณฑ์ทางสังคมนั้นมีรายละเอียดดังนี้
- มีความรู้และความเข้าใจในกฎเกณฑ์กติกาของสังคม ความรู้และความเข้าใจในกฎเกณฑ์กติกาของสังคมนั้น เกิดขึ้นจากกระบวนการทางสังคมนั้นๆเองที่มีวิวัฒนาการทางสังคมมาอย่างยาวนาน จนสามารถทำให้ผู้คนภายในสังคมค่อยๆซึมซับหรือเรียนรู้ไปโดยอัตโนมัติ เช่น กฎเกณฑ์ทางศีลธรรม สำหรับสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมแห่งพุทธศาสนา เด็กก็จะซึมทราบรับเอาหลักคุณธรรมและศีลธรรม ตลอดถึงวัฒนธรรมทัศนคติในพุทธศาสนามาเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติสำหรับใช้เป็นเกณฑ์ในการอยู่ร่วมกัน เช่น การนำศีลธรรมมาเป็นหลักในการดำรงชีวิต ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการประพฤติปฏิบัติเคารพกติกาในการอยู่ร่วมกัน อันได้แก่ การไม่เบียดเบียนกันไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางวาจา ไม่ล้อเลียน หรือรังแกเพื่อน อาจกล่าวได้ว่า ศีล 5 นั้นเป็นหลักสากลของมนุษยชาติก็ได้ เพราะไม่ว่าในสังคมใดก็จำต้องอยู่ร่วมกันโดยไม่เบียด เบียน หากอยู่ด้วยกันโดยความเบียดเบียนก็ทำให้สังคมนั้นไม่มีความเจริญ ปราศจากความสุขสงบ อาจถึงขึ้นสังคมแตกสลายก็เป็นได้ การเคารพสิทธิผู้อื่นด้วยการไม่ละเมิดในทรัพย์สินของผู้อื่น ขออนุญาตก่อนที่จะหยิบยืมของใช้จากเพื่อน ไม่หยิบฉวยของของเพื่อนมาเป็นของตน การรู้จักประมาณคือพอเพียงไม่แย่งของรักของผู้อื่น การให้ความจริงหรือความซื่อ ตรงต่อคนอื่นโดยการพูดแต่ความจริง พูดสิ่งที่เป็นประโยชน์ พูดให้เกิดความสามัคคี ไม่พูดปด นับเป็นการทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่นทางสังคม หรือสร้างความรักความสามัคคีให้เกิดขึ้นในสังคมได้ และการดำรงสติด้วยการไม่ทำสติสัมปชัญญะของตนให้บั่นทอนลงไปด้วยอบายมุข มีสิ่งเสพย์ติดให้โทษต่างๆ เห็นโทษและพิษภัยของสิ่งเสพติด นี่เป็นตัวอย่างในกระ บวนการเรียนรู้กฎกติกาทางสังคม
- ยอมรับและการปฏิบัติตามกฎกติกาทางสังคม บ่อยครั้งที่ปัญหาสังคมเกิดจากการที่คนในสังคมไม่ประพฤติปฏิบัติตามกฎกติกา ดังนั้นการมีกฎกติกาไม่ได้หมายความว่าจะทำให้สังคมมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ถ้าหากว่าผู้คนในสังคมยังขาดจิตสำนึกในการที่จะปฏิบัติตามครรลองทางสังคม เด็กปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางสังคมจะทำตามระเบียบของโรงเรียน ข้อตก ลงในห้องเรียน ข้อตกลงในบ้าน
- ได้รับการกล่อมเกลาทางสังคม เป็นวิธีการในการช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม หมาย ถึงการที่เด็กจะปฏิบัติตามกรอบกติกาได้นั้น จำต้องได้รับความร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทั้งจากสถาบันครอบครัว ชุมชน โรง เรียน และศาสนา อันเป็นเครื่องหลอมรวมให้เกิดความสำนึกในการรับผิดชอบต่อตนเองและกติกาของสังคมร่วมกัน ดังนั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก จึงต้องคอยตักเตือนให้เด็กอยู่ในกฎเกณฑ์ของสังคมเสมอจนติดเป็นนิสัย
การเคารพกฎเกณฑ์มีความสำคัญอย่างไร?
นักสังคมวิทยาได้กล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์ว่าเป็นสัตว์สังคม ซึ่งการดํารงชีวิตของมนุษย์นั้นจึงจะต้องอยู่ร่วมกันเป็นหมู่เป็นกลุ่ม ทั้งนี้เพื่อจะได้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน อันจะก่อให้เกิดผลต่อการมีชีวิตรอด และความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ แต่เนื่องจากลักษณะทางธรรมชาติของมนุษย์บางประการ มีสภาพที่ไม่แตกต่างไปจากสัตว์ประเภทอื่นๆ เช่น ความ ต้องการที่จะทําอะไรตามความคิดและจิตใจของตนเอง ความต้องการในเรื่องอํานาจและความเป็นใหญ่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จึง เป็นปัจจัยที่ทําให้การอยู่ร่วมกันของมนุษย์ไม่สามารถดําเนินไปได้ ด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อย เกิดความวุ่นวายในด้าน ต่างๆนั้น การกดขี่ข่มเหงซึ่งกันและกัน การเอารัดเอาเปรียบกัน และบางครั้งอาจนําไปสู่การต่อสู้ประหัตประหารกันขึ้น ดัง นั้น มนุษย์จึงได้คิดแนวทาง วิธีการ ตลอดจนเครื่องมือต่างๆมาใช้ในการจัดระเบียบทางสังคมขึ้น เพื่อกําหนดแนวทางในการปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันในสังคม ให้สังคมเกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและเจริญก้าวหน้าต่อไป การเคารพต่อกฎเกณฑ์ทางสังคมนั้น ไม่เพียงแต่เป็นการบ่งบอกความเจริญทางด้านคุณธรรมของผู้ประพฤติปฏิบัติเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วนั่นคือการสร้างความเจริญรุ่งเรืองความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสงบสุขให้กับบ้านเมืองและสังคม ซึ่งการที่ผู้คนในสังคมเคารพและประพฤติปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางสังคมนั้น เป็นดรรชนีชี้วัดถึงอารยธรรมของสังคมหรือประเทศนั้นๆได้เป็นอย่างดี และการประพฤติปฏิบัติตามกฎกติกาของผู้คนในสังคมนั้น อุปมาประหนึ่งว่ามีความงดงามเหมือนพวงมาลัยที่ร้อยขึ้นจากดอกไม้หลายสีถูกนำมารวมอยู่ด้วยกันอย่างเป็นระเบียบ ดอกไม้นั้นก็คือตัวแทนของผู้คนในสังคมที่ประพฤติปฏิบัติตามกรอบกติกาทางสังคม ส่วนด้ายสำหรับร้อยดอกไม้นั้นก็คือตัวแทนของกติกากฎเกณฑ์ทางสังคม อันจะใช้เป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันนั่นเอง ดังนั้นในสังคม ถ้าหากว่าจะมีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และในสังคมนั้นก็มีกฎกติกาของสังคมอยู่อย่างมากมาย ก็มิได้เป็นเครื่องหมายการันตีว่า สังคมนั้นมีความเป็นระเบียบเรียบ ร้อย ถ้าหากว่า ระเบียบกฎเกณฑ์ยังคงบัญญัติขึ้นเฉยๆไม่ได้มีการนำมาใช้จริงในภาคปฏิบัติ ความสำคัญจึงอยู่ที่การได้นำเอากฎเกณฑ์ต่างๆมาสู่ภาคการปฏิบัติได้จริงเท่านั้น จึงจะทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นสาเหตุของการที่จะได้นำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองทางสังคมได้อย่างแท้จริง
การเคารพกฎเกณฑ์มีประโยชน์ต่อเด็กอย่างไร?
การที่เด็กได้ประพฤติปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นั้น การปลูกฝังให้เด็กเพิ่มความรับผิดชอบและมีระเบียบวินัยในการที่จะอยู่ร่วม กันในสังคม เพื่อที่จะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีคุณภาพในวันข้างหน้า เพราะความประสบความสำเร็จในชีวิตของแต่ละบุคคลนั้น เริ่มมาจากการที่บุคคลแต่ละคนได้รับการปลูกฝังอบรมให้เป็นคนมีระเบียบวินัย และมีความรับผิดชอบ การที่ได้ทำตามกรอบกติกาตั้งแต่เด็กนั้น ก็คือการสอนให้เขาได้รู้จักความอดทนในอันที่จะไม่ทำอะไรตามใจตนเอง เอาชนะกิเลสหรือที่พูดกันโดยทั่วไปว่า เอาชนะใจตน เมื่อเป็นได้อย่างนี้ก็เป็นเครื่องรับรองได้ว่า ชีวิตของเด็กคนนั้นก็จะมีความเจริญอย่างเดียวไม่มีความเสื่อมเลย ในทางพระพุทธศาสนาได้แสดงหลักธรรมที่แสดงถึงประโยชน์จากการเป็นคนเคารพต่อกฎกติกาไว้ดังนี้
- ทำให้เป็นคนน่ารัก น่าเอ็นดู น่าเกรงใจ เพราะเป็นคนว่านอนสอนง่าย ยึดมั่นในกฎกติกา จึงเป็นสาเหตุให้เป็นที่รักเป็นที่ปรารถนาของผู้คนโดยทั่วไป
- ทำให้ได้รับความสุขกาย สบายใจ การปฏิบัติตนตามครรลองของสังคมนั้น ย่อมทำให้ตนมีความเจริญรุ่งเรือง เพราะการกระทำที่ถูกต้องเป็นเหตุให้ได้รับผลเช่นนั้น
- ทำให้ไม่มีความเดือดร้อน ไม่มีเวร ไม่มีภัย ความที่ตนเป็นผู้ปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ด้วยการพูดและทำ กล่าวคือ ด้วยกายกรรมและวจีกรรมที่แสดงออกมาได้อย่างถูกต้องตามกฎกติกา จึงเป็นผลให้ไม่ต้องได้รับความเดือดเนื้อร้อนใจในภายหลัง มีความอยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากการอยู่ร้อนนอนทุกข์นั่นเอง
- ทำให้สามารถถ่ายทอดความดีจากผู้อื่นได้ง่าย การที่ตนเองเป็นคนว่านอนสอนง่ายนั้น เป็นการง่ายที่จะได้รับเอาคำสั่งสอนแนะนำจากผู้อื่น ไม่แข็งกระด้างและมีความอ่อนน้อมถ่อมตน
- ทำให้ผู้อื่นอยากช่วยเหลือเพิ่มเติมคุณความดีให้ เป็นธรรมดาของคนที่ว่านอนสอนง่าย สามารถปฏิบัติตามกฎ เกณฑ์ทางสังคมได้ ย่อมเป็นที่รักและพร้อมให้การช่วยเหลือจากผู้อื่น
- ทำให้สติดีขึ้น เป็นคนไม่ประมาท การเป็นคนที่สามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ทางสังคมได้นั้น ปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง คือ การครองสติและสัมปชัญญะเอาไว้ให้ได้ เมื่อทำได้ดังนี้ก็ได้ชื่อว่า เป็นคนไม่ประมาท
- ทำให้เป็นคนมีปัญญาละเอียดอ่อน รู้จริง และทำได้จริง การดำรงตนอยู่ในกรอบกติกาช่วยทำให้เพิ่มพูน ความประณีต มีความละเมียดละไม สุภาพ สุขุมลุ่มลึก และมีความสงบเย็นแก่บุคคลโดยทั่วไป
- ทำให้เกิดในตระกูลสูงไปทุกภพทุกชาติ
- ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานโดยง่าย
พ่อแม่ ผู้ปกครองจะส่งเสริมการเคารพกฎเกณฑ์ให้ลูกอย่างไร?
การที่เด็กๆจะเป็นผู้รู้จักเคารพกฎระเบียบกติกาของสังคมได้นั้น พ่อแม่ถือได้ว่าเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญต่อพฤติกรรมของลูก เพราะพ่อแม่นั้นคือต้นแบบที่แท้จริงสำหรับลูกๆ หากพ่อแม่ได้แนะนำอบรมลูกๆของตนได้อย่างถูกต้องด้วยแนวทางการสอนการถ่ายทอดที่ดีงามแล้ว ก็จะเป็นปัจจัยอย่างสำคัญต่อชีวิตลูกๆ ซึ่งแนวทางในการปลูกฝังความเป็นคนมีระเบียบวินัยให้กับลูกๆนั้นอาจมีหลายวิธีแตกต่างกันไปดังนี้
- การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง การสอนการอบรมทุกอย่างไม่มีวิธีการใดที่จะสัมฤทธิ์ผลได้เท่ากับการทำเป็นตัวอย่างให้ดู กล่าวคือ การดำรงตนตามปกติของมารดาบิดาอย่างมีระเบียบวินัยมีความเรียบร้อยนั้น เป็นการฝึกอย่างแท้จริง เพราะเด็กๆย่อมได้เห็นพฤติกรรมของพ่อแม่ที่เรียบร้อยดีงามเป็นต้นแบบในการที่จะประพฤติปฏิบัติตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากพ่อแม่ประพฤติปฏิบัติตนได้จริง แม้จะกล่าวสอนแนะนำบุตรหลาน โอวาทหรือคำแนะนำพร่ำสอนนั้นย่อมมีน้ำหนักอันควรเชื่อถือและนำไปประพฤติปฏิบัติได้ เพราะลูกหลานได้เห็นเป็นตัวอย่างมาแล้วว่าสามารถทำได้และให้ผลเป็นความดีเช่นไร การพร่ำสอนคนอื่นอย่างที่ตนกระทำได้ คือการพูดอย่างที่ทำนั่นเอง
- การฝึกฝนให้ลูกๆมีความซื่อตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกฝังตั้งแต่เด็กด้วยการเริ่มจากเรื่องง่ายๆ คือการฝึกเด็กๆรู้จักทำอะไรให้เป็นเวลา เช่น นอนเป็นเวลา ตื่นเป็นเวลา ทานอาหารเป็นเวลา แม้กระทั่งเล่นเป็นเวลา สิ่งเหล่านี้ค่อยกล่อมเกลาเด็กให้รู้จักทำอะไรเป็นเวลา เป็นการสอนให้เขารู้จักระเบียบวินัยในชีวิตโดยอ้อม
- การฝึกให้เด็กทำงานพร้อมทั้งการติดตามดูแลเพื่อให้เด็กๆทำงานได้ตามกำหนดที่ตั้งไว้ เมื่อเด็กๆเริ่มเติบโตขึ้น พ่อแม่ควรฝึกหัดให้เด็กได้มีความรับผิดชอบต่อการงานเล็กๆน้อยๆ เช่น ให้เด็กๆรู้จักล้างจาน ซักเสื้อผ้าเอง หรือกวาดบ้านถูบ้านเป็นต้น ตามกำหนดระยะเวลาที่กำหนดไว้ว่าควรทำเมื่อไร ยังไง การทำเช่นนี้เป็นการส่งเสริมให้เด็กๆมีความรับผิดชอบต่อการงานและระเบียบเวลาที่ตั้งไว้ อีกทั้งตัวของเด็กๆยังได้เห็นผลของการกระทำเช่นนั้นว่าเป็นอย่างไร กล่าวคือ ได้เห็นความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในบ้าน หรือความสำเร็จของงานที่ตนรับผิดชอบ
- การสอนให้เด็กๆ รู้จักกฎเกณฑ์ทางสังคมตลอดถึงวัฒนธรรมประเพณีความเชื่อและค่านิยมต่างๆ เพื่อเป็นการสอนให้เด็กๆได้รู้ว่าควรวางตนอย่างไรในสังคม กล่าวคือจะประพฤติปฏิบัติอย่างไรจึงจะถูกต้องในสังคม วิธีการนี้ อาจทำได้โดยให้เด็กๆได้เรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรงจากการที่พ่อแม่เปิดโอกาสให้ลูกหลานได้ศึกษาจากประสบการณ์นอกบ้าน
มารยาทในการดำรงตนเพื่อการอยู่ในสังคมให้เป็นบุคคลมีมารยาท คุณพ่อคุณแม่ควรปลูกฝังในเรื่องต่อไปนี้
- การรู้จักวางตน ต้องเป็นคนมีความอดทน มีความสงบเสงี่ยม ไม่แสดงกิริยาก้าวร้าว อวดรู้ อวดฉลาด อวดมั่งมี และไม่ ควรตีตัวเสมอผู้ใหญ่ แม้ว่าจะสนิทสนมหรือคุ้นเคยกันสักปานใดก็ตาม
- การรู้จักประมาณตน มีธรรมของคนดี 7 ได้แก่ รู้จัก เหตุผล ตน ประมาณ กาล ชุมชน และบุคคล โดยไม่ทำตัวเองให้เด่น เรียกร้องให้คนอื่นสนใจ หรือสร้างจุดสนใจในตัวเรามากเกินไป ตัวอย่าง คำเตือนของหลวงวิจิตรวาทการที่กล่าวไว้ว่า“จงทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย ไม่มีใครเขาอยากเห็นเราเด่นเกิน”
- การรู้จักการพูดจา ต้องไม่ทักทายปราศรัยกับคนด้วยคำพูดที่จะทำให้คนเขาเกิดความอับอายในสังคม และ ไม่คุยเสียงดังหรือยักคิ้วหลิ่วตาทำท่าทางประกอบจนทำให้เสียบุคลิกภาพได้
- การรู้จักควบคุมอารมณ์ คือ รู้จักข่มจิตของตน ไม่ใช้อารมณ์รุนแรงเพื่อไม่ให้ล่วงสิ่งที่ไม่ควรล่วง ได้แก่ การข่มราคะ โทสะ โมหะ ไม่ให้กำเริบ เป็นคุณลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ รู้จักข่มอารมณ์ต่างๆ ไม่ทำลายข้าวของ ไม่พูด และแสดงกิริยาประชดประชันหรือส่อเสียด
- การสำรวมกิริยาเมื่อเดินผ่านผู้ใหญ่ ขณะที่เดินผ่านผู้ใหญ่ให้ก้มตัวพองาม หรือหากผู้ใหญ่กำลังเดินไม่ควรวิ่งตัดหน้า ควรหยุดให้ผู้ใหญ่เดินไปก่อน หรือไม่ควรเดินผ่านกลางขณะที่ผู้ใหญ่กำลังพูดกัน
- การรู้จักควบคุมอิริยาบถ ถือเป็นคุณสมบัติที่ดี เช่น เมื่อเราได้ยินเสียงเพลงก็ไม่ควรเขย่าตัว กระดิกเท้า หรือเคาะจังหวะโดยไม่เลือกสถานที่ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นอาการของคนที่ไม่ควบคุมอิริยาบถ และไม่เหมาะสมกับกาลเทศะ
- ความมีน้ำใจไมตรีอันดีต่อกัน การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขด้วยความรักและเข้าใจกัน ควรมีความเอื้ออาทร มีน้ำใจไมตรีต่อกัน มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน มีความเห็นอกเห็นใจ เอาใจใส่ ทุกข์สุขของผู้เกี่ยวข้อง มุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน ที่สำ คัญคือมีน้ำใจในการช่วยเหลือ หรือช่วยทำประโยชน์ให้แก่สังคม
- การช่วยเหลือผู้อื่น เป็นคุณธรรมชั้นสูงของการอยู่ร่วมกันในสังคม ลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์มีอุดม การณ์สำคัญคือ “การช่วยเหลือผู้อื่น” พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเป็นปัจฉิมโอวาท ความว่า “จงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นด้วยความไม่ประมาทเถิด” การยังประโยชน์แก่ผู้อื่น ก็คือ การช่วยเหลือผู้อื่น หรือการปฏิบัติเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น เพื่อประโยชน์ส่วนรวม สังคมจะมีสันติสุข คือ มีความสงบสุข ถ้าบุคคลในสังคมรู้จักการช่วยเหลือผู้อื่น มีความเสีย สละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
เกร็ดความรู้เพื่อครู
ครูควรที่จะหาสถานการณ์เพื่อใช้ในการถ่ายทอดและปลูกฝังให้เด็กเกิดการเรียนรู้และแยกแยะว่า สถานการณ์ใดที่ควรจะ ต้องแสดงพฤติกรรมแบบใด เพื่อสร้างประสบการณ์ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างถูกต้องและมีความสุขในสังคม
บรรณานุกรม
- งามตา วนินทานนท์. (2536). ลักษณะทางพุทธศาสนาและพฤติกรรมศาสตร์ของบิดามารดาที่เกี่ยวข้องกับการอบรมเลี้ยงดูบริษัท ประชาอุทิศการพิมพ์ จำกัด.
- ณรงค์ เส็งประชา. (2541). มนุษย์กับสังคม. พิมพ์ครั้งที่ 4 . กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น